สกว.ร่วมสนับสนุนการยกระดับในการแข่งขันของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย

สกว.ร่วมสนับสนุนการยกระดับความได้เปรียบในการแข่งขันของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยภายใต้การค้าเสรี หวังผลักดันงานวิชาการเข้ามาช่วยขับเคลื่อนทั้งระบบ ด้านผู้กำกับชื่อดังหนุนนำงานวิจัยมาต่อยอดเป็นบทภาพยนตร์

การสนับสนุนงานวิจัยด้านภาพยนตร์เป็นผลสืบเนื่องจากความสำเร็จของภาพยนตร์จีนเรื่อง Lost in Thailand ที่ทำให้มีนักท่องเที่ยวมากขึ้น รวมถึงซีรีส์แดจังกึมจากเกาหลีใต้ที่สร้างจากผลงานวิจัยด้านวัฒนธรรม และการส่งออกภาพยนตร์ไทยในช่วงที่ผ่านมาโดยเฉพาะเรื่องต้มยำกุ้ง จึงคิดว่าภาครัฐน่าจะสนับสนุนงานด้านวิชาการและการวิจัยเข้าไปในฐานอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ของ สกว. และจะพยายามสนับสนุนทุนวิจัยสาขานี้ให้มากขึ้น

งานวิจัยนี้ได้ศึกษาความได้เปรียบในการแข่งขันของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยอย่างเป็นระบบ โดยวิเคราะห์สถานภาพและความได้เปรียบในการแข่งขัน รวมถึงการกำหนดแผนที่คลัสเตอร์ซึ่งเชื่อมโยงระหว่างธุรกิจหลักกับสถาบันการศึกษา องค์กรวิชาชีพ และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำข้อสรุปจากผลการวิจัยไปเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อไป ซึ่งจากสถิติในปี 2011 อุตสาหกรรมภาพยนตร์เกาหลีใต้มีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจมากกว่าของไทยมากทั้งในด้านมูลค่าผลผลิต มูลค่าเพิ่ม รายได้ภาษี และการจ้างงาน โดยในด้านการพัฒนาพบว่าภาพยนตร์เกาหลีใต้มีหลากหลายแนว และมีจำนวนมากกว่าภาพยนตร์ไทยเท่าตัว อีกทั้งทำรายได้สูงติดอันดับ Box office และมีส่วนแบ่งทางการตลาดมากกว่าของไทย ทั้งนี้คนไทยชมภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์น้อยกว่าเกาหลีใต้ 7 เท่า รวมถึงประเทศอื่นๆ จำนวนมาก สาเหตุสำคัญน่าจะมาจากตั๋วมีราคาสูงเมื่อเทียบกับระดับรายได้ของคนไทย

ตัวอย่างปัจจัยเชิงบวกที่มีผลต่อความได้เปรียบ ได้แก่ ปัจจัยการผลิตทั้งสถานที่ถ่ายทำและมรดกวัฒนธรรม ด้านการแข่งขันและกลยุทธ์ทางธุรกิจพบว่าภาพยนตร์แนวตลกและผีสามารถเจาะตลาดในประเทศได้อย่างต่อเนื่อง ส่วนปัจจัยเชิงลบคือ ขาดบุคลากรด้านการพัฒนาที่มีฝีมือและข้อจำกัดด้านภาษาอังกฤษ ขาดการวิจัยและพัฒนา ตลาดผูกขาดค่อนข้างสูง ผู้ผลิตรายย่อยมีศักยภาพในการแข่งขันต่ำ ไม่มีมาตรการปกป้องจากภาพยนตร์นำเข้า การละเมิดลิขสิทธิ์ที่รุนแรง ผู้ชมส่วนใหญ่นิยมภาพยนตร์ต่างประเทศมากกว่า ซึ่งแนวทางยกระดับความได้เปรียบที่อยากเห็น คือ กำหนดให้เป้าหมายสูงสุดของแผนยุทธศาสตร์คือ อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยที่มีความได้เปรียบในการแข่งขันทั้งตลาดในประเทศและตลาดโลก ซึ่งจำเป็นจะต้องบรรลุเป้าหมายสองประการ คือ ภาพยนตร์ที่มีคุณภาพ สร้างสรรค์ และเป็นสากล รวมถึงการประชาสัมพันธ์และการตลาดที่มีประสิทธิภาพ สร้างอำนาจต่อรอง

สำหรับข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ประกอบด้วย การจัดตั้งกองทุนหรือจัดหาสินเชื่อเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานด้านการตลาด กำหนดมาตรการคุ้มครองภาพยนตร์ไทย สนับสนุนการชมภาพยนตร์ผ่านระบบออนไลน์ ให้สิทธิประโยชน์ทางการเงินแก่ผู้ประกอบการต่างประเทศให้มากขึ้น จัดตั้งเว็บไซต์เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น “ภาพยนตร์ไทยไม่ได้เป็นเพียงสินค้าหรือบริการ แต่เป็นสิ่งที่แสดงอัตลักษณ์ของประเทศ หากสามารถพัฒนาควบคู่กับความคิดสร้างสรรค์และความเป็นสากล จะกลายเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอื่นๆ ได้อย่างมีนัยสำคัญ และจะเป็นอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่สามารถนำพาประเทศไทยสู่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และพัฒนาเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์และการค้าเสรีในปัจจุบัน”