Monthly Archives: August 2015

แนวโน้มตลาดภาพยนตร์แอนิเมชั่นในประเทศ

Croods-Teaser-One-Sheet-2012
เนื่องจากตลาดแอนิเมชั่นในประเทศไทยในปีนี้อาจเติบโตไม่มากนัก โดยมองว่าประเทศไทยมีอุปสรรคในเรื่องเงินสนับสนุนการทำภาพยนต์แอนิเมชั่น ซึ่งเป็นธุรกิจที่ต้องใช้เงินทุนมากพอสมควร แต่ปัจจัยด้านฝีมือนั้นถือว่าคนไทยมีฝีมือเป็นอันดับต้นของโลก จากการทำภาพยนต์โฆษณาแอนิเมชั่นที่ติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก ซึ่งในต่างประเทศรัฐบาลให้การสนับสนุนด้านงบประมาณ และมีสถาบันการเงินที่สามารถกู้โดยมีอัตราดอกเบี้ยต่ำ จึงอยากให้ภาครัฐให้การสนับสนุนในด้านนี้เช่นเดียวกัน ปัจจุบันกระแสความนิยมภาพยนต์ 3 มิติทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น โดยปีที่ผ่านมามีการผลิตภาพยนต์และแอนนิเมชั่น 3 มิติ ที่เข้าฉายในโรงภาพยนต์ทั่วโลกมากถึง 44 เรื่อง ประกอบกับโรงภาพยนต์และโทรทัศน์ได้เพิ่มความสามารถในการรับชมภาพยนต์ในรูปแบบ 3 มิติเพิ่มขึ้น ซึ่งแสดงให้เห็นถึงกระแสความนิยมรับชมภาพยนต์และแอนิเมชั่น 3 มิติของผู้ชมทั่วโลก

ภาพยนตร์แอนิเมชันที่นำเสนอออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ในประเทศไทยในปัจจุบัน  ยังคงเป็นภาพยนตร์แอนิเมชันที่นำเข้าจากต่างประเทศทั้งจากประเทศสหรัฐอเมริกาและจากประเทศญี่ปุ่น แม้ว่าในปัจจุบันประเทศไทยจะมีความสามารถในการผลิตภาพยนตร์แอนิเมชันได้เองแล้วแต่ยังมีปริมาณน้อยและภาพยนตร์แอนิเมชันของไทยยังมีคุณภาพที่ด้อยกว่าของต่างประเทศ โดยเฉพาะรายการภาพยนตร์แอนิเมชันซีรี่ส์ทางโทรทัศน์ของไทยนั้นมีความยาวในการนำเสนอโดยเฉลี่ยเพียงประมาณ 10-15 นาทีต่อตอนเท่านั้น จึงอาจทำให้ผู้ชมเมื่อรับชมแล้วยังไม่เกิดการจดจำ ไม่ซึมซับรูปแบบและเนื้อหาของภาพยนตร์แอนิเมชัน ไม่ติดตาตรึงใจ จนถึงไม่อาจทำการตลาดหรือดำเนินธุรกิจต่อไปอีกได้

ผู้ประกอบการแอนิเมชั่นไทยจะต้องเผชิญการแข่งขันจากประเทศในอาเซียน ได้แก่ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และสิงคโปร์ ที่มีจุดแข็งด้านการผลิตแอนิเมชั่นที่แตกต่างกันไป แม้ว่าผู้ประกอบการแอนิเมชั่นไทยจะมีการรับจ้างช่วงต่อจากผู้ประกอบการต่างชาติ โดยมีจุดแข็งในด้านความละเอียดและเทคนิคขั้นตอนการผลิตและขั้นตอนหลังการผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งแอนิเมชั่นที่เป็นส่วนประกอบของโฆษณา ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบในการรับงานที่แตกต่างจากประเทศคู่แข่งในอาเซียนแล้ว ผู้ประกอบการแอนิเมชั่นไทยยังจำเป็นต้องพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ในการผลิตแอนิเมชั่นที่มีเอกลักษณ์ แปลกใหม่ สามารถสร้างความจดจำและความประทับใจให้กับผู้ชมควบคู่กันไป นอกจากนี้ภาครัฐควรส่งเสริมผู้ประกอบการแอนิเมชั่นไทย ยกตัวอย่างเช่น การส่งเสริมด้านการตลาดและการเผยแพร่ผลงานแอนิเมชั่นในต่างประเทศ การส่งเสริมการลงทุนด้านแอนิเมชั่นจากผู้ประกอบการต่างชาติ

หอภาพยนตร์แห่งชาติมีภารกิจในด้านให้บริการสาธารณะ

23

ปัจจุบันหอภาพยนตร์แห่งชาติมีสถานภาพเป็นหน่วยงานรัฐระดับกลุ่มงานหนึ่งในสังกัดสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม หน้าที่ของหอภาพยนตร์แห่งชาติ คือ การแสวงหา เก็บรวบรวมสะสม บรรดาภาพยนตร์และสิ่งเกี่ยวเนื่องกับภาพยนตร์ เพื่ออนุรักษ์ไว้ในฐานะเป็นทรัพย์สินทางปัญญาและมรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้บริการสาธารณะ ได้ใช้ประโยชน์ด้านการค้นคว้าศึกษาและด้านกิจกรรมศิลปวัฒนธรรม หากเปรียบเทียบหอภาพยนตร์แห่งชาติ กับหน่วยงานอื่นในบริบทของบทบาทหน้าที่ทำนองเดียวกัน เช่น หอสมุด พิพิธภัณฑ์ หอจดหมายเหตุ หอศิลป์ และ ศูนย์วัฒนธรรม หอภาพยนตร์อาจเป็นหน่วยงานที่ได้รับการเอาใจใส่จากรัฐน้อยที่สุด และเป็นหน่วยงานที่โดดเดี่ยวที่สุด เพราะทั้งประเทศมีอยู่เพียงแห่งเดียว ในขณะที่ประเทศมีหอสมุด พิพิธภัณฑ์ หอจดหมายเหตุ หอศิลป์และศูนย์วัฒนธรรม นับร้อยนับพันแห่ง รัฐไม่เคยคิดเรื่องการจัดตั้งหอภาพยนตร์มาก่อน หอภาพยนตร์แห่งชาติเกิดขึ้นได้เมื่อยี่สิบปีที่ผ่านมา เพราะการเสนอแนะเรียกร้องและลงมืออาสาสมัครทำงานให้รัฐโดยเอกชน

แม้ว่าจะไม่ได้รับการเอาใจใส่เท่าที่ควร แต่เวลา 20 ปีที่ผ่านมา หอภาพยนตร์แห่งชาติสามารถปฎิบัติภารกิจด้านพื้นฐานได้เป็นผลสำเร็จ นั่นคือ การแสวงหารวบรวมภาพยนตร์และสิ่งเกี่ยวเนื่องกับภาพยนตร์ จนกล่าวได้ว่าประเทศไทยมีมรดกภาพยนตร์ของชาติเป็นปึกแผ่น แต่ความสำเร็จนั้นกำลังจะเป็นความล้มเหลวในบั้นปลาย เพราะปัจจุบันหอภาพยนตร์แห่งชาติกำลังเผชิญกับปัญหาความเป็นความตาย นั่นคือไม่สามารถให้การดูแลรักษาฟิล์มภาพยนตร์ที่มีอยู่ให้คงอยู่ต่อไป เพราะการขาดแคลนบุคลากร งบประมาณ ครุภัณฑ์และอาคารสถานที่ทำงาน ขนาดของภารกิจในการดูแลรักษาฟิล์มภาพยนตร์ของหอภาพยนตร์แห่งชาติอาจเปรียบได้กับภารกิจของโรงพยาบาลในขณะที่หอภาพยนตร์แห่งชาติมีสภาพเป็นเพียงสุขศาลาอนาถา

อีกด้านหนึ่งหอภาพยนตร์แห่งชาติมีภารกิจในด้านให้บริการสาธารณะ การให้บริการของหอภาพยนตร์มีสองทาง ทางหนึ่งคือเป็นแหล่งค้นคว้าศึกษาโดยตรง หอภาพยนตร์เป็นคลังภาพยนตร์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ประชาชนผู้สนใจสามารถเข้าไปขอดูหรือศึกษาค้นคว้าภาพยนตร์และสิ่งเกี่ยวเนื่องกับภาพยนตร์ที่หอภาพยนตร์จัดไว้ให้บริการ อีกทางหนึ่งเป็นแหล่งให้การเรียนรู้นอกระบบและการเรียนรู้ตลอดชีวิตแก่ประชาชน โดยการจัดกิจกรรมการเผยแพร่ เช่น การจัดรายการฉายภาพยนตร์เป็นประจำ การจัดนิทรรศการ การจัดประชุมทางวิชาการ การจัดทำสิ่งพิมพ์ทางวิชาการออกเผยแพร่ ในระยะทศวรรษแรกของการจัดตั้งหอภาพยนตร์แห่งชาติพยายามรักษาสมดุลย์ของภารกิจ ระหว่างภารกิจการแสวงหา การเก็บรักษา และภารกิจการให้บริการ โดยพยายามทำทั้งสองทาง เป็นหอภาพยนตร์อย่างที่เรียกกันว่าแอคทีฟ ดูคึกคักมีชีวิตชีวา